ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม

   สุจิตต์ วงษ์เทศ

  5,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามบางส่วนเป็นท้องทะเล
  4,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งชุมชนใกล้เคียงพนมสารคาม
  3,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามยังไม่มีชุมชน
  หลัง พ.ศ. 1 พนมสารคามเป็นส่วนหนึ่งของ "สุวรรณภูมิ"
  หลัง พ.ศ. 500 พุทธ-พราหมณ์มาถึงสุวรรณภูมิแต่ยังไม่พบที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีชุมชนบ้านเมืองที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามเกี่ยวข้องกับขอมและการค้าโลก
  หลัง พ.ศ. 1700 พนมสารคามร่วงโรยแล้วรกร้าง
  พ.ศ. 2309 พระเจ้าตาก ผ่่านป่าดงพนมสารคาม
  พ.ศ. 2369 กวาดต้อน "ลาว" มาอยู่พนมสารคาม
  คนจีนในพนมสารคาม
  คนไทยในพนมสารคาม
  อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเรากันเถอะ

            ความเป็นมาของผู้คนและดินแดนพนมสารคาม เป็นส่วนหนึ่งอย่างแยกไม่ได้จากประวัติศาสตร์และภูมิภาคอุษาคเนย์ (Southeast Asia) ที่มีชื่อเก่าแก่ว่า "สุวรรณภูมิ" เพราะพนมสารคามเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำบางปะกง ริมอ่าวไทย ทางตะวันออกของที่ลาบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลางของประเทศไทย และประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์อย่างแยกออกจากกันไม่ได้

อ่าวไทยยุคดึกดำบรรพ์

            ราว 12,000 ปีมาแล้ว ทะเลอ่าวไทยมีขอบเขตกว้างขวางกว่าปัจจุบัน พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทั้งหมดจมอยู่ใต้ทะเลอ่าวไทย น้ำทะเลท่วมท้นล้นบริเวณที่ลาบลุ่มน้ำเจ้าพระยาลึกเข้าไปในแผ่นดินโดยรวมอย่างกว้าง ๆ ดังนี้

            ทิศเหนือ ทะเลสูงขึ้นไปถึงบริเวณจังหวัดลพบุรี หรือเหนือขึ้นไปอีก ทิศตะวันตก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณอำเภอเมืองและอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่ำลงมาที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมต่ำลงมาที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และต่ำลงมาที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

            ส่วน ทิศตะวันออก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณจังหวัดสระบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรีและเว้าไปถึงอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

            เหตุที่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นทะเล นักโบราณคดีและนักธรณีวิทยาอธิบายว่าเมื่อประมาณ 12,000 ปีมาแล้ว น้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นมากเพราะน้ำแข็งละลาย ทำให้ท้องทะเลแถบอ่าวไทยมีขอบเขตกว้างขวางสูงขึ้นไปถึงลพบุรีหรือเหนือขึ้นไป แม่น้ำสายสำคัญ ๆ ที่ไหลลงทะเลจึงสั้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือปากน้ำเจ้าพระยาจะอยู่บริเวณจังหวัดนคร-ชัยนาท ปากน้ำแม่กลองอยู่ทางจังหวัดนครปฐม (แม่น้ำท่าจีนยังไม่มี) ปากน้ำป่าสักอยู่ทางจังหวัดลพบุรี ส่วนปากน้ำบางปะกงอยู่างจัวหวัดนครนายก-ปราจีนบุรี เป็นต้น

            ทะเลอ่าวไทยยุคดึกดำบรรพ์ที่กว้างขวางมิได้อยู่คงที่ เพราะแผ่นดินโดยรอบงอกออกไปเรื่อย ๆ ตามปรากฎการณ์ธรรมชาติ อันเป็นผลจากการทับถมของตะกอนหรือโคลนตมที่ล้นทะลักไหลมากับน้ำในแม่น้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบอ่าวไทยยุคโน้น ครั้นนานเข้าก็กลายเป็นทะเลโคลนตม ขยายพื้นที่กว้างออกไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ ตามธรรมชาติ ในที่สุดโคลนตมที่ถมทับกลับกลายเป็นดินดอนแผ่กว้างเป็นแผ่นดินสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

            นอกจากจะถมทะเลให้เป็นแผ่นดินแล้ว โคลนตมจำนวนมหาศาลยังเป็นปุ๋ยธรรมชาติดีที่สุดที่ทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวในสมัยหลัง ๆ

            เมื่อตะกอนจากแม่น้ำโดยรอบทะลักออกมาทับถมนานนับพันปี ในที่สุดอ่าวไทยก็ค่อย ๆ หดลงบริเวณที่โคลนตมตกตะกอนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่ ดั่งเห็นเป็นที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง เขตจังหวัดฉะเชิงเทราต่อเนื่องจังหวัดปราจีนบุรี - ชลบุรี ฯลฯ

ภาพถ่ายทางอากาศจำลองขึ้นใหม่ครั้งอ่าวไทยกว้างขวางกว่าปัจจุบัน บริเวณกรุงเทพฯ และที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยายังเป็นทะเล
ภาพโมเสกจากดาวเทียม LANDSAT TM บริเวณที่ราบเจ้าพระยาตอนล่างจากอ่าวไทยขึ้นไปจนถึงจังหวัดชัยนาท สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มต่ำเคยเป็นทะเลมาก่อน มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านที่ที่ราบก่อนออกสู่ทะล บริเวณต่อเนื่องจากทะเลที่เห็นในภาพเป็นสีเข้มเน้นให้เห็นขอบที่ลุ่มซึ่งเป็น
แนวชายฝั่งทะเลมาก่อน ตำแหน่งเมืองโบราณอยู่บนส่วนที่เป็นแผ่นดินโดยรอบ
แนวชายฝั่งทะเล (ภาพและคำอธิบายจาก ห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาต,ิ 2534.)

 


 

ชื่อ "บางปะกง" หมายถึงอะไร

            บางปะกง มีต้นน้ำอยู่บริเวณที่ลุ่มดอนภายใน บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก มีลำน้ำสาขาเล็ก ๆ หลายสายไหลจากเทือกเขาใหญ่ ทางทิศเหนือเรียกลำน้ำนครนายก ลำน้ำประจันตคาม ฯลฯ ไหลไปรวมกันเรียกลำน้ำปราจีนบุรี แล้วลงลำน้ำบางปรกง ไหลออกอ่าวไทยทางจังหวัดชลบุรี

            ฝั่งทะเลตะวันออก เป็นขอบอ่าวไทยด้านทิศตะวันออก มีหลายลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำพานทอง ลุ่มน้ำระยอง ลุ่มน้ำประแส ลุ่มน้ำจันทบุรี ลุ่มน้ำตราด

            บางปะกง มีชื่อเดิมว่าบางมังกง เป็นหมู่บ้านประมงชายงั่ง อยู่ปากน้ำปลายสุดออกอ่าวไทยเลยเรียกแม่น้ำทั้งสายตามชื่อชุมชน หมู่บ้านที่อยู่ปาน้ำว่าปากมังกง แล้วกร่อนเป็นบางปะกง

            บาง เป็นคำร่วมเก่าแก่ของคนสุวรรณภูมิทุกเผ่าพันธุ์ หมายถึงทางน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลเชื่อมกับทางน้ำใหญ่กว่า แล้วมีชุมชนตั้งอยู่ตรงปากทางน้ำที่เชื่อมกัน เรียกว่าบาง

            ปะกง เป็นคำกร่อนจากคำเก่า เรียกปลาชนิดหนึ่งว่ามังกง (อาจเลียนเสียงและรูปจากมังกรอย่างเดียวกับ กุ้ง-กั้ง ฯลฯ แต่บางคนว่ากลายจากคำจีน) มีใช้เก่าสุดในโคลงกำสรวลสมุทร (ราว พ.ศ. 2025) มีชื่อ ปลามังกง ปลาทุกัง ปลาฉลาม ว่า "มังกงทุกังฉลามเห็นโห่"

            นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ ยังเรียกคำเต็มว่าบางมังกง เป็นชุมชนหมู่บ้านประมงชาวจีน (เจ๊ก) มีในกลอนว่า

            ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น                    ดูเรียงรันเรือนเรียบชลาสินธุ์
            แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน                       เหม็นแต่กลิ่นเน่าอบตลบไป
            เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่                       ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพศไสย
            เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย                             ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย

 

แผนที่แสดงลักษณะภูมิประเทศบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ยังมีสภาพเป็น "ทะเลโคลนตม" กว้างขวางสูงขึ้นไปมากกว่าปัจจุบัน การตั้งหลักแหล่งชุมชนและบ้านเมืองยุคแรก ๆ อยู่ตามที่ตอนหรือขอบอ่าว ใกล้ชิดหรือติดกับทะเลโคลนตม (ปรับปรุงจาก ห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย โดยสำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2534)

 

แผนที่แสดงชุมชนหมู่บ้าน บางแห่งที่สำคัญเมื่อราว 5,000 ปีมาแล้ว ใน (สยาม) ประเทศไทย