ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม

   สุจิตต์ วงษ์เทศ

  5,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามบางส่วนเป็นท้องทะเล
  4,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งชุมชนใกล้เคียงพนมสารคาม
  3,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามยังไม่มีชุมชน
  หลัง พ.ศ. 1 พนมสารคามเป็นส่วนหนึ่งของ "สุวรรณภูมิ"
  หลัง พ.ศ. 500 พุทธ-พราหมณ์มาถึงสุวรรณภูมิแต่ยังไม่พบที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีชุมชนบ้านเมืองที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามเกี่ยวข้องกับขอมและการค้าโลก
  หลัง พ.ศ. 1700 พนมสารคามร่วงโรยแล้วรกร้าง
  พ.ศ. 2309 พระเจ้าตาก ผ่่านป่าดงพนมสารคาม
  พ.ศ. 2369 กวาดต้อน "ลาว" มาอยู่พนมสารคาม
  คนจีนในพนมสารคาม
  คนไทยในพนมสารคาม
  อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเรากันเถอะ

   10.  พ.ศ. 2369 กวาดต้อน "ลาว" มาอยู่พนมสารคาม
                  บริเวณพนมสารคามที่เป็นป่าดงเริ่มมีชุมชนบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 3 ยกทัพไปตีเวียงจัน (ลาว) ได้เมื่อ พ.ศ. 2369 แล้วให้กวาดต้อนลาวพวนกับลาวเวียงจันมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณ ป่าดงทางตะวันออกของกรุงเทพฯ ตั้งแต่นครนายก ปราจีนบุรี จนถึงฉะเชิงเทรา คือบริเวณลำน้ำท่าลาดที่ต่อไปจะได้ชื่อ พนมสารคาม มีลาวอีกกลุ่มหนึ่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่พนัสนิคม (ชลบุรี)

ศึกเจ้าอนุวงศ์ เวียงจัน
                  
คนลาวชาวอีสานสองฝั่งโขง ต้องเดือดร้อนวุ่นวายครั้งสำคัญในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เมื่อเกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ เวียงจัน

                       กรณีเจ้าอนุวงศ์
                   
เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 1 กับรัชกาลที่ 2 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เมื่อในรัชกาลที่ 2 นั้น เจ้าอนุแสดงความสวามิภักดิ์ต่อราชการมากและหมั่นลงมาเฝ้าเป็นนิจ
                       พอถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2369 ก็เกิดปัญหาขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างกรุงเทพฯ กับเวียงจัน สาเหตุหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุคือ พวกลาวและข่าตามหัวเมืองต่าง ๆ ในอีสานและลุ่มแม่น้ำโขงได้รับความเดือดร้อนจากเจ้าเมืองนครราชสีมาที่ทำหน้าที่ "ตีข่า" มาเป็นทาสแล้วเกณฑ์ส่วนและแรงงานส่งให้กรุงเทพฯ พวกลาวและข่าเหล่านี้จำต้องหันไปพึ่งพาเจ้าอนุวงศ์ ผลคือเจ้าอนุวงศ์ต้องเผชิญหน้ากับบรรดาเจ้าเมืองในอีสาน โดยเฉพาะเจ้าเมืองนครราชสีมา
                       เมื่อเจ้าอนุวงศ์ทำความตกลงกับญวนแล้วยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนถึงเมืองนครราชสีมาเท่ากับขัดนโยบายและท้าทายอำนาจของกรุงเทพฯ โดยตรง เพราะกรุงเทพฯ โดยตรง เพราะกรุงเทพฯ ต้องการเพิ่มรายได้ในรูปของส่วยเพื่อทดแทนรายรับที่สูญเสียไปอันเนื่องมาจากความเสื่อมของระบบผูกขาด ทั้งยังเป็นการประกันปริมาณสินค้าสำหรับการค้ากับจีนที่ส่งผลกำไรมหาศาลให้กรุงเทพฯ ด้วย รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้ยกทัพไปปราบเวียงจันแล้วจับเจ้าอนุวงศ์มาลงโทษจนตายที่กรุงเทพฯ
                       เรื่องเจ้าอนุวงศ์นี้ มหาสิลา วีระวงศ์ "นักปราชญ์ลาว" ได้เรียบเรียงหนังสือ "ประวัติศาสตร์ลาว" แล้วกล่าวถึงไว้ด้วย จะขอตัดตอนมาเสนอเพี่อเปรียบเทียบทัศนะกับ "ประวัติศาสตร์ไทย" ดังต่อไปนี้
                       ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นทางนครจัมปาสักคือ มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อสา อยู่แขวงเมืองสระบุรี เติมกัมมัฎฐานมาพักอยู่ภูเจ็ดโง้ง แขวงจัมปาสัก ภิกษุสาได้แสดงตนเป็นผู้วิเศษว่าสามารเรียกเอาไฟจากพระอาทิตย์มาให้เผาบ้านเผาเมืองได้ด้วยการทดลองให้คนเห็น โดยเอาแก้วส่องใส่ดวงอาทิตย์ แล้วเอาเชื้อไฟรองรับไดว้ที่เกิดไฟไหม้สมจริง คนทั้งหลายจึงเชื่อและนับถือพระภิกษุสา พระภิกษุสาจึงจัดตั้งเป็นกองทัพมาตีเอาบ้านเล็กเมืองน้อยได้หลายเมือง แล้วเลยยกทัพมาตีเอานครจัมปาสัก เจ้าหมาน้อยเจ้านครจัมปาสักไม่ทันรู้ตัวก็แตกหนีเข้าป่า ภิกษุสาก็เข้ายึดเอาเมืองจัมปาสักได้
                       เจ้าพระยานครราชสีมากับพระโพธิสารราชเจ้าเมืองโขงได้ยกทัพมาตีอ้ายสา ฝ่ายอ้ายสาเก็บรวบรวมเอาข้าวของได้แล้วก็แตกหนีไปอยู่ที่ภูเขาย่าปุ เมืองอัตตะปือ
                       พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทราบจากหนังสือบอกของพระยานครราชสีมา จึงแต่งให้พระยามหาอำมาตย์เป็นแม่ทัพขึ้นมาตีอ้ายสา แต่จับอ้ายสาไม่ได้ จึงคุมเอาเจ้าหมาน้อยลงไปกรุงเทพฯ และเจ้าหมาน้อยก็เลยถึงแก่พิราลัยอยู่ในกรุงเทพฯ นั้นเอง ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยจึงสั่งให้พระเจ้าอนุไปตามจับอ้ายสามาให้ได้
                       พระเจ้าอนุจึงให้เจ้าราชบุตรโย้ โอรสของพระองค์ยกทัพไปตีอ้ายสา และขับอ้ายสาได้ ส่งลงไปกรุงเทพฯ ด้วยความชอบอันนี้ พระเจ้าอนุจึงขอให้เจ้าราชบุตรได้เป็นเจ้านครจัมหาสักแทนเจ้าหมาน้อยตามแผนการของพระองค์ที่ได้กะไว้ในการจะกู้เอกราช เมื่อเจ้าราชบุตรได้เป็นเจ้านครจัมปาสักแล้วก็รีบจัดการเกณฑ์ไพร่พลขุดดินพูนกำแพงเมือง, สร้างหอโรง, ก่อกำแพงวัง และสร้างหอพระแก้วไว้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย
                       พระเจ้าอนุวงศ์ เป็นนักรบผู้สามารถและเข้มแข็งผู้หนึ่ง ทั้งมีความรักชาติ รักอิสรภาพเป็นที่สุดพระองค์จึงพยายามคอยหาโอกาสที่จะปลดแอกจากความเป็นประเทศหัวเมืองขึ้นของไทยอยู่ตลอดมาในการที่พระองค์ทำการกู้อิสรภาพในคราวนั้น พระองค์คิดแต่เพียงจะกู้อิสรภาพฟื้นฟูประเทศให้กลับคืนเป็นเอกราชเท่านั้น มิได้คิดจะรบเอาประเทศไทยหรือรบรากับประเทศไทยเพื่อแก้แค้นแทนพระราชบิดา ดังนั้น พระองค์จึงสั่งให้เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพลงไปกวาดต้อนเอาครัวคนลาวที่ไทยกวาดไปไว้เมืองสระบุรีคืนมาเวียงจัน ส่วนพระองค์ก็ลงไปกวาดเอาครอบครัวเมืองโคราช
                       ฝ่ายกรุงเทพน เมื่อได้ทราบว่าเจ้าอนุแข็งเมืองและยกพลลงไปกวาดเอาครอบครัวคนลาวคืนมาเวียงจัน จึงได้ยกกองทัพออกติดตามตีกองทัพพระเจ้าอนุและเจ้าราชวงศ์จนถึงเวียงจันท้ายที่สุดพระเจ้าอนุก็ถูกไทยจับได้ ด้วยความช่วยเหลือของเจ้าน้อยเมืองพวนเชียงขวางและถูกส่งลงไปกรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพฯ
                       กองทัพไทยตีได้นครเวียงจันครั้งที่ 2 ในรัชกาลของพระเจ้าอนุนี้ พระเจ้าแผ่นดินไทยองค์ที่ 3 (พระนั่งเกล้า) ได้สั่งให้ทำลายนครเวียงจันหมด โดยให้รื้อทำลายกำแพงเมือง ตัดต้นไม้ลงให้หมด ไม่ผิดกับการทำไร่แล้วเอาไฟเผา นครเวียงจันถูกไฟเผาเป็นเถ้าถ่าน พระพุทธรูปหลายร้อยหลายพันองค์ถูกไฟเผาจนละลายกองระเนระนาดอยู่ตามวัดต่าง ๆ วัดในนครเวียงจันเหลือเพียงวัดเดียวที่ไม่ถูกไฟไหม้คือวัดศรีสะเกา
                       การที่พระเจ้าแผ่นดินไทยสั่งให้ทำลายเวียงจันให้สิ้นซาก ก็เพื่อมิให้เวียงจันกลับคืนเป็นเมืองได้อีก แล้วให้ล้มเลิกอาณาจักรล้านช้างเวียงจันเสีย มิให้มีเมืองและเจ้าครองเมืองอีกต่อไป ราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันจึงสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้
                       นครเวียงจันที่สวยงามอุดมสมบูรณ์จึงเป็นเมืองร้างตั้งแต่ปีนั้นมา ไดทยได้ไปตั้งกองรักษาการณ์หรือกองข้าหลวงผู้ปกครองนครอาณาเขตดินแดนเวียงจันอยู่ที่จังหวัดหนองคาย และภายหลังได้ย้ายไปตั้งอยู่จังหวัดอุดรธานี เมื่อฝรั่งเศสมาได้เวียงจันแล้ว
                       กรณีเจ้าอนุวงศ์นี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชสนุภาพทรงอธิยายว่า คุณหญิงโม้ (ภรรยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา) แสดงความกล้าหาญร่วมต่อต้านกองทัพเจ้าอนุวงศ์ให้สำเร็จ จึงได้ความดีความชอบเป็น ท้าวสุรนารี

ฝั่งทะเลตะวันออก เป็น "ชายขอบ"
บนเส้นทางคมนาคมทางทะเลของ "สลัด"
                       
หลัง พ.ศ. 1800 บ้านเมืองบริเวณที่ลุ่มตอนภายในของดินแดนฝั่งตะวันออกเปลี่ยนไปเพราะสภาพภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นที่ห่างไกลฝั่งทะเล การคมนาคมไม่สะดวกเหมือนเดิม ความรุ่งเรืองที่เคยมีมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 1000 ก็ร่วงโรยหมดความสำคัญลง ในที่สุดก็รกร้างว่างเปล่า ผู้คนทั้งหลายเคลื่อนย้ายไปตั้งหลักแหล่งใหม่อยู่ชายฝั่งมากขึ้น ถึงกระนั้นก็เป็นหลักแหล่ง "ชายขอบ" อยู่ห่างไกลจากราชธานีที่เกิดขึ้นใหม่ ผู้คนชายฝั่งเป็นนักผจญภัยทางทะเลที่เรียกกันภายหลังว่าสลัดเพราะอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางทะเลมีเรือผ่านไปมา
                       ชายฝั่งทะเลตะวันออกยุคนี้ มีคนอยู่น้อย บางแห่งเป็นป่าดง วรรณคดีสำคัญยุคพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 - 2031) เรื่องกำสรวลสมุทร ไม่บรรยายถึงหมู่บ้านชายฝั่งไว้เลย พรรณาแต่ทิวเขา (สามมุก) กับเกาะ (สีชัง) ดังนี้

          มุ่งเห็นอรรถ้ำท่ง ทิวเขา
เขาโตกอำภิลจอม จากฟ้า
สมุทรเงื่อนเงามุข เมียงม่าย
ดูดุจมุขเจ้าถ้า สั่งศรี
          มุ่งเห็นลล่ายน้ำ ตาตก แม่ฮา
เกาะสระชังชลธี  โอบอุ้ม
มลักเห็นไผ่เรียงรก เกาะไผ่ พู้นแม
เขียวสระดื้อล้ำย้อม  ยอดคราม

 

ชาวประมงแกะปลิงทะเลติดอวน ที่เมืองจันทบุรี รูปวาดโดยคณะสำรวจของนายอังรี  มูโอต์ (พ.ศ.2401-4) มีคำบรรยายครั้งนั้นว่า "ปลิงทะเลที่จับได้บางตัวยาวเกือบเมตร นำไปตากแห้งและรมควันเป็นอาหารจีนราคาแพง"

ร่องรอยแนวกำแพงเมืองจันทบุรี ที่พระเจ้าตากยกเข้าโจมตี ปัจจุบันอยู่ในค่ายทหารตากสิน จังหวัดจันทบุร

ค่ายเนินวง อำเภอเมือง จังวัดจันทบุรี สร้างสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อให้เป็นจันทบุรีใหม่ ที่มีป้อมปราการแข็งแรง ป้องกันการรุกรานของพวกญวน ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อเมืองไทยสมัยนั้น

กำแพงเมืองฉะเชิงเทรา

                       การค้าทางทะเลตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 หรือหลัง พ.ศ. 1900 ลงมา จนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้เกิดชุมชนหัวเมืองชายทะเลขึ้นหลายแห่ง ล้วนเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย และส่วนมากไม่ถาวร มีการเคลื่อนย้ายไปมาตามความหมาะสมของกิจการเดินเรือ คงมีแต่เพียงเมืองจันทบุรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีร่องรอยของเนินดิน กำแพงเมือง คูเมือง และโบราณสถานวัตถุแสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองที่ถาวรและสำคัญในขณะเดียวกันก็คงเป็นเมืองที่มีอำนาจพอสมควรในการปกครองบรรดาหัวเมืองชายทะเลเหล่านี้

                       ผู้คนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก ล้วนมีลักษณะหลากหลายทางชาติพันธุ์ เพราะมีการเคลื่อนย้าย โยกย้ายบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมขึ้น ไม่อาจรวมกันเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นพวกเดียวกันในทางวัฒนธรรม ที่จะมีผลให้เกิดบูรณาการทางการเมืองขึ้นได้ เพราะศูนย์กลางอำนาจที่สำคัญ เช่น กรุงศรีอยุธยา ไม่เห็นความจำเป็น สภาพและฐานะของเมืองชายทะเลเหล่านี้จึงอยู่ในลักษณะที่เป็นบริเวณ "ชายขอบ" ตลอดมา

                       จนกระทั่งเสียกรุงแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310 จึงเกิดมีความสำคัญขึ้น อันเนื่องมาจากพระเจ้าตากทรงพาไพร่พลหนีจากอยุธยา มาสร้างกำลังทางหัวเมืองตะวันออก เพื่อกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา

                       ข้อมูลที่เกี่ยวกับการเดินทางผ่านมาที่นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จนถึงการตีเมืองจันทบุรี และตั้งมั่นรวบรวมไพร่พลอยู่เมืองจันทบุรี ล้วนแสดงให้เห็นสภาพที่เป็นชายขอบของบ้านเมืองในภูมิภาคตะวันออกอย่างชัดเจน ทั้งในเขตที่ลุ่มดอนภายใน กับเขตชายทะเล

                       เขตที่ลุ่มดอนภายใน ชุมชนที่ตั้งอยู่ในแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นนครนายกและปราจีนบุรี ล้วนมีสภาพเป็น ด่าน หรือ เมืองด่าน ที่ผู้คนมีลักษณะเป็นพวกสะสมและหลาย ๆ แห่งทีเดียวที่เป็นซ่องของพวกโจรผู้ร้ายหนีอาญาบ้านเมือง ไม่เป็นชุมชนใหญ่ เป็นได้แค่ชุมชนเล็ก ๆ กระจายไปตามที่ต่าง ๆ

                       เขตชายฝั่งทะเล ก็เป็นแหล่งของพวกสะสมเช่นเดียวกัน เพราะบรรดาขุนนาง เจ้าเมือง หรือกรมการเมือง เช่น เจ้าเมืองจันทบุรี เมืองระยอง ชลบุรี มีลักษณะเป็น ชาวต่างชาติ หรือไม่ก็พวกโจรหรือนักเลง ที่มีอำนาจ และทางกรุงศรีอยุธยาให้ยศตำแหน่ง เพื่อความสะดวกสบายในการปกครอง คนเหล่านี้มีทั้งอำนาจและผลประโยชน์ จึงเป็นเหตุให้พระเจ้าตากต้องทรงใช้กำลังในการปราบปรามอย่างเด็ดขาด เช่น การตีเมืองจันทบุรี ซึ่งมีเจ้าเมืองที่แท้จริงคือ พ่อค้าที่มีอำนาจ กับการปราบปรามนายทองอยู่ นกเล็กที่ชลบุรี ที่แท้จริงคือพวกสลัด

                       จนถึงรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว เขตชายฝั่งทะเลตะวันออกยังเป็น "ชายขอบ" ที่ต้องใช้นโยบายเกลี้ยกล่อมกลุ่ม "สลัด" ให้สวามิภักดิ์อีกนาน มีกรณีตัวอย่างบิดาสุนทรภู่ออกบวชอย่างเป็น"ราชการ"แล้วไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่บ้านกร่ำ เมืองแกลง (จังหวัดระยอง) เพื่อควบคุมและเกลี้ยกล่อมข้าคนสลัดชายขอบเหล่านั้นให้อยู่ในอำนาจของกรุงเทพฯ และทางกรุงเทพฯ ต้องตรวจสอบระมัดระวังสม่ำเสมอ ดังสุนทรภู่เขียนนิราศเมืองแกลงว่า "เจ้านายท่านไม่ใช่แล้วไม่มา" หมายถึงสุนทรภู่ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการข่าวของ "เจ้านาย" จากกรุงเทพฯ กับฝั่งทะเลตะวันออกเพื่อความสงบราบคาบ

"เมืองป้อม" ชายฝั่งทะเลตะวันออก

                       นับแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ลงมาจนถึงรัชกาลที่ 3 ได้เกิดการสร้าง เมืองป้อม ขึ้นหลายแห่ง เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก

                       เมืองสมุทรปราการ เมืองพระประแดง ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และเมืองฉะเชิงเทรา ที่ริมแม่น้ำบางปะกง คือตัวอย่างของเมืองป้อมที่ดี แม้ว่าที่ชลบุรี ระยอง และตราด จะไม่มีการสร้างป้อมและสร้างเมือง แต่ที่เมืองจันทบุรีก็ดูเหมือนจะได้รับการเสริมสร้างให้เป็นเมืองสำคัญที่เป็นฐานทัพ เป็นแหล่งที่ต่อเรือเพื่อใช้ทั้งการสงครามและการค้าขาย สมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้าง เมืองป้อมขึ้นที่ตำบลเขาเนินวงเพื่อเตรียมรับศึกพวกญวน

                       การส่งกองทัพบกไปตีเขมร ต้องผ่านบริเวณที่ดอนลุ่มทางภาคตะวันออก ผ่านอรัญประเทศ ไปยังเสียมราฐและพระตะบอง ทางกรุงเทพฯ ได้ขุดคลองไปยังนครนายก เพื่อการขนส่งกำลัง ต่อจากนั้นก็เดินทัดผ่านปราจีนฯ ไปยังอรัญประเทศเพื่อเข้าแดนเขมร

                       ในสมัยรัชกาลที่ 3 การปราบปรามลาวและเขมร ทำให้มีการกวาดต้อนผู้คนที่เป็นพวกลาวมาไว้ที่ปราจีนบุรีและฉะเชิงเที่เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดชุมชนใหม่ ๆ นับแต่หมู่บ้านไปจนถึงเมืองด้วยอีกมากมายหลายแห่ง บรรดาเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นปัจจุบันก็กลายเป้นอำเภอไปหลายแห่ง เช่น เมืองกบินทร์บุรี เมืองพนัสนิคม เมืองพนมสารคาม เป็นต้น

                       ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากสงครามเช่นเดียวกัน เพราะการรบกับเขมรและญวนนั้น ต้องอาศัยกองทัพเรือด้วย