ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม

   สุจิตต์ วงษ์เทศ

  5,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามบางส่วนเป็นท้องทะเล
  4,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งชุมชนใกล้เคียงพนมสารคาม
  3,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามยังไม่มีชุมชน
  หลัง พ.ศ. 1 พนมสารคามเป็นส่วนหนึ่งของ "สุวรรณภูมิ"
  หลัง พ.ศ. 500 พุทธ-พราหมณ์มาถึงสุวรรณภูมิแต่ยังไม่พบที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีชุมชนบ้านเมืองที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามเกี่ยวข้องกับขอมและการค้าโลก
  หลัง พ.ศ. 1700 พนมสารคามร่วงโรยแล้วรกร้าง
  พ.ศ. 2309 พระเจ้าตาก ผ่่านป่าดงพนมสารคาม
  พ.ศ. 2369 กวาดต้อน "ลาว" มาอยู่พนมสารคาม
  คนจีนในพนมสารคาม
  คนไทยในพนมสารคาม
  อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเรากันเถอะ

2.    4,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งชุมชนใกล้เคียงพนมสารคาม

            4,000 ปีมาแล้ว แรกรู้จักถลุงโลหะในดินแดนอุษาคเนย์ เช่น สัมฤทธิ์ (ที่ต่อไปข้างหน้าจะหล่อพระพุทธรูปและเทวรูป พบมากทางลุ่มน้ำยม - น่าน เช่น สุโยทัย, พิษณุโลก ฯลฯ กับลุ่มน้ำป่าสัก เช่น ลพบุรี, เพชรบูรณ์ ฯลฯ

            พนมสารคามยุคนี้ยังไม่พบหลักฐานว่ามีคนมาตั้งหลักแหล่งถลุงโลหะ แต่บริเวณต่อเนื่องไปทางอำเภอพนัสนิคม (ชลบุรี) พบชุมชนสำคัญทางชายทะเลฝั้งตะวันออก มีพยานหลักฐานหลายอย่างที่น่าเชื่อได้ว่าเคยกระจัดกระจายร่อนเร่มาถึงบริเวณพนมสารคาม

บรรพชน "คนตะวันออก" เมื่อ 4,500 ปีมาแล้ว

            บรรพชนคนชายฝั่งทะเลตะวันออก มีหลักฐานเก่าสุดว่ามีชีวิตอยู่เมื่อราว 4,500 ปีมาแล้ว หรือร่วมยุคกับ "คนบ้านเชียง" (อุดรธานี) นักโบราณคดีขุดพลหลักฐานบริเวณป่าชายเลนริมทะเลโคลนตมที่บ้านหนองโน กับบ้านโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

            ก่อนบรรพชนคนชายฝั่งทะเลตะวันออกจะมาตั้งหลักแหล่งชั่วคราวและถาวรอยู่บ้านหนองโนบริเวณนี้เคยเป็นสุสานหอย เพราะมีซากเปลือกหอยนานาชนิดมากกว่า 6 ล้านฝา ส่วนมากเป็นหอยตลับ พบบนหาดทรายและจมอยู่ในทะเลโคลนตมมากกว่า 4,500 ปีมาแล้ว นับเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ

            บรรพชนคนที่หนองโน แสวงหาอาหารจากธรรมชาติ เช่น ออกทะเลจับสัตว์น้ำ มีปลาฉลาม ปลาโลมา เข้าป่าล่าสัตว์ มีกวาง วัวป่า ความป่า เป็นต้น รู้จักปรับแต่งดัดแปลงกระดูกสัตว์ป่าเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เบ็ดตกปลา เครื่องมือปลายแหลม เป็นต้น ใช้ขวานหินขัด ทำจากหินเนื้อละเอียดรู้จักปั้นภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ แต่ยังไม่รู้จักเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีประเพณีฝังศพในท่าขดและงอตัว แล้วฝังสิ่งของเครื่องใช้ลงไปในหลุมให้กับผู้ตาย

            ครั้นหลัง 4,500 ปีมาแล้ว คนอีกพวกหนึ่งอยู่รวมกันที่บ้านโคกพนมดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำกว้างบริเวณชวากทะเล คงจะเป็นที่ลุ่มต่ำ ชื้นแฉะ และนำ้ทะเลขึ้นถึง และน่าจะมียุงชุมเพราะขุดพบหลักฐานกองไฟมากมาย อาจเกิดจากการสุมไฟจากไม้พวกโกงกางให้ควันไฟไล่ยุงยุคนั้น

            คนที่โคกพนมดีเริ่มเพาะปลูกข้าวได้เองตามบริเวณหนองน้ำจืด ใช้จอบหินแกรนิตปรับหน้าดินและใช้เปลือกหอยน้ำจืดทำเป็นเคียวหรือมีด ต่อมาสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอีก ระดับน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้น เป็นผลให้สภาพพื้นที่ใกล้เคียงเป็นป่าเลนน้ำเค็ม ทำให้การเพาะปลูกข้าวมีปัญหาและต้องหยุดปลูกข้าวในทีสุด การติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นทวีความสำคัญมากขึ้น

            ผู้หญิงที่บ้านโคกพนมดี เมื่อราว 4,500 ปีมาแล้ว มีสถานะและบทบาททางสังคมสูงมาก ชำนาญในการผลิตภาชนะดินเผา มีภาระหน้าที่แลกเปลี่ยนสิ่งของติดต่อกับชุมชนอื่น นำสิ่งของหายากจากที่ห่างไกลเข้า

แผนที่ชายทะเลตะวันออก แสดงแหล่งโบราณคดีบ้านหนองโน และแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี

มาสู่ชุมชน เช่น เปลือกหอยมือเสือ งาช้าง หินชนวน ใช้ทำเป็นเครื่องประดับ อาจแลกเปลี่ยนข้าวจากที่อื่นมากินด้วย

                ผู้หญิงมีบทบาทสูงในชุมชน ทำให้มีสถานะเหนือกว่าคนทั่วไป เมื่อลูกสาวตายขณะยังเล็ก ถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ สิ่งของที่ฝังลงไปกับศพเด็กจึงเต็มไปด้วยของที่มีค่าและประดับประดาศพมากมาย

                เมื่อมีคนตาย ฝังศพไว้ใต้ถุนเรือน แบ่งพื้นที่ฝังศพของแต่ละตระกูล จัดระเบียบคั่นด้วยแนวยาวของเปลือกหอยที่ทับถมเป็นกองสูง มีเปลือกหอยกองหนึ่งนับได้ราว 137,000 ฝา ส่วนใหญ่เป็นหอยแครง

                 ศพแต่ละตระกูลซ้อนทับสืบทอดกันมาหลายศตวรรษ บางศพพบซากไม้รองศพอยู่ บางศพพบเยื่อไม้หรือเส้นใยสีขาว อาจเป็นเปลือกไม้ถูกทุบหรือแร่ใยหินใช้มัดตัวศพ

                 พบก้อนอุจจาระของบรรพชนคนฝั่งทะเลตะวันออกเมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีก้างปลาและแกลบข้าวปนอยู่ด้วย วิเคราะห์แล้วเป็นข้าวปลูก ส่วนอีกศพหนึ่งพบกากอาหารมื้อสุดท้ายหลงเหลืออยู่ที่บริเวณช่องท้อง พบ "อาหารมื้อสุดท้าย" มีข้าว ปลา เพราะพลเกล็ดปลา ก้างปา พร้อมแกลบข้าวป่า เพราะบริเวณนี้น้ำเค็มไม่เหมาะกับการปลูกข้าว

            พบกระดูกหมาเป็นครั้งแรก หมาเป็นสัตว์ที่มาจากถิ่นอื่น เพราะไม่มีถิ่นกำเนิดในสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 แห่งยังไม่รู้จักเลี้ยงหมาหรือสัตว์ประเภทอื่น

           

เบ็ดตกปลาทำจากกระดูกสัตว์ ที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ขนาดของเบ็ดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร
ขวานหินขัดจากโคกพนมดี คล้ายคลึงกับที่พบจากหนองโน ขวานหินขัดเล่มซ้ายสุด วัดตามขวางได้ 4.8 เซนติเมตร
ภาชนะดินเผาจากโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีรูปร่างและลวดลายแบบต่าง ๆ

            พวกผู้ชายมีกระดูท่อนบนของร่างกายกำยำ แสดงถึงความบึกบึนของร่างกาย ผู้หญิงมีร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์ และมีลูกแล้ว คนพวกนี้ออกทะเลไปจับปลา และมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับกลุ่มชนบทที่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน แลกเปลี่ยนวัสดุมาทำเครื่องมือหิน

            ในขณะที่หนองโนฝังคนตายในท่างอตัว แต่ที่โคกพนมดีฝังในท่านอนหงายเหยียดยาว

ผู้หญิง "เจ้าแม่" เป็นใหญ่ในสังคมดึกดำบรรพ์

            ผู้หญิงกับผู้ชายมีฐานะทางสังคมต่างกัน มีหลักฐานจากประเพณีทำศพเมื่อหลายพันปีมาแล้วศพผู้ชายศพหนึ่งมีเครื่องประดับทำจากกระดองเต่าฝังไว้ใกล้ ๆ ส่วนศพผู้หญิงศพหนึ่งมีหินดุดินเผาฝังไว้ด้วย

            ศพของหญิงสาวประดับประดาด้วยเครื่องประดับทำจากลูกปัดเปลือกหอยกว่า 120,000 เม็ด ภาชนะดินเผาหลายใบ หินดุดินเผาและหินขัดภาชนะดินเผาอีก 2 ก้อน ศพข้าง ๆ เป็นศพเด็ก มีลูกปัดนับหมื่นเม็ด และมีหินดุดินเผาขนาดเล็ก ทั้ง 2 ศพมีสิ่งของที่มาจากต่างถิ่นฝังไว้อยู่ด้วย บางศพฝังอยู่ใต้ถุนมีพื้นยกสูง

            ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าฐานะของผู้หญิงได้รับการยกย่องอย่างสูง อาจเป็นถึง "เจ้าแม่" ก็ได้

"อาหารมื้อสุดท้าย" พบในบริเวณช่องท้องของศพผู้หญิงประกอบด้วยข้าวเปลือก กระดูก เกล็ด และก้างของปลาหมอ
แถบสีขาวที่เห็นบนโครงกระดูกของทารก คือ แร่ใยหินที่ใช้ห่อตัวศพ แร่ไยหินนี้ในสมัยที่อาณาจักรโรมันเรืองอำนาจมีค่ามากกว่าทองคำ เพราะทนต่อความร้อน เมื่อนำมาปั่นเป็นเส้นใยและทอเป็นผืนมีความมันวาวและสวยงาม ที่โคกพนมดีนี้นับได้ว่าการนำเอาแร่ใยหินมาใช้ประโยชน์เก่ากว่าที่อื่นใด
ศพของ "เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี" ประดับประดาด้วยลูกปัดเปลือกหอยแบบตัว I และแบบแว่นกลมบางกว่าแสนเม็ด แผ่นวงกลมมีเดือย กำไลข้อมือ และเครื่องประดับศีรษะ เป็นต้น โครงกระดูกของเจ้าแม่เต็มไปด้วยดินเทศสีแดง
ที่ข้อเท้าของศพ "เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี" มีหินดุดินเผาและเปลือกหอย 1 ฝา บรรจุก้อนหินกรวดที่ใช้สำหรับขัดผิกภาชนะ 2 ก้อน สิ่งของเหล่านี้น่าจะเป็นของใช้ส่วนตัวที่ผู้ตายเคยใช้ปั้นภาชนะเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ และภาชนะดินเผาที่ฝังร่วมกับศพนี้อาจจะปั้นโดยผู้ตายก็เป็นได้
ส่วนหนึ่งของเครื่องประดับที่พบจากศพของ "เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี" เช่น เครื่องประดับทำจากเปลือกหอยทะเล ลูกปัดเปลือกหอยแบบต่าง ๆ และเขี้ยวสัตว์เจาะรูเป็นต้น
ศพทารกอายุประมาณ 2 ขวบ ถูกฝังอยู่ข้าง ๆ ศพของ "เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี" ลักษณะการฝังและสิ่งของลงไปด้วยคล้ายคลึงกับที่พบจากศพของเจ้าแม่ เช่น หินดุแต่มีขนาดจิ๋วอยู่ที่บริเวณข้อเท้า โครงกระดูกมีสีแดงเป็นผลมาจากการโรยดินเทศสีแดงปกคลุมศพ

แผนที่แสดงชุมชนถลุงโลหะ บางแห่งที่สำคัญ เมื่อราว 4,000 ปีมาแล้ว ใน(สยาม)ประเทศไทย