ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม

   สุจิตต์ วงษ์เทศ

  5,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามบางส่วนเป็นท้องทะเล
  4,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งชุมชนใกล้เคียงพนมสารคาม
  3,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามยังไม่มีชุมชน
  หลัง พ.ศ. 1 พนมสารคามเป็นส่วนหนึ่งของ "สุวรรณภูมิ"
  หลัง พ.ศ. 500 พุทธ-พราหมณ์มาถึงสุวรรณภูมิแต่ยังไม่พบที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีชุมชนบ้านเมืองที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามเกี่ยวข้องกับขอมและการค้าโลก
  หลัง พ.ศ. 1700 พนมสารคามร่วงโรยแล้วรกร้าง
  พ.ศ. 2309 พระเจ้าตาก ผ่่านป่าดงพนมสารคาม
  พ.ศ. 2369 กวาดต้อน "ลาว" มาอยู่พนมสารคาม
  คนจีนในพนมสารคาม
  คนไทยในพนมสารคาม
  อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเรากันเถอะ

   7. หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามเกี่ยวขัองกับขอมและการค้าโลก

            หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามและดินแดนเมืองศรีมโหสถ (ปราจีนบุรี) กับเมืองพระรถ (ชลบุรี) รุ่งเรืองขึ้นจากการค้าโลก แล้วเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ขอมทั้งเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเมืองพระนมครที่ทะเลสาบ (กัมพูชา) เพราะมีดินแดนต่อเนื่องเป็นแผนเดียวกัน (ยุคนั้นไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต อย่างปัจจุบัน)
               บ้านเมืองขนาดเล็กที่พนมสารคาม ได้ผลพวงจากการค้าโลกด้วย จึงพบโบราณวัตถุจำนวนหลังกระจัดกระจายทั่วไปทางสองฝั่งลำน้ำท่าลาดตั้งแต่บ้านเกาะขนุนและใกล้เคียง

แรกมี "ขอม" ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

            หลัง พ.ศ. 1500 รัฐพื้นเมืองทั้งหมดในสุวรรณภูมิต่างปรับตัวทางการค้า แล้วควบคุมการค้าด้วยตนเอง ทำให้เติบโตเข้มแข็งมีเครือข่ายกว้างขวาง เกิดบ้านเมืองน้อยใหญ่ทั้งชายฝั่งทะเลและภายในลุ่มน้ำลำคลอง ต่างสร้างความสัมพันธ์เป็นเครือญาติพี่น้องผู้ใหญ่ผู้น้อยผ่านการแต่งงาน มีผู้คนจากทุกทิศทางเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม แล้วตั้งหลักแหล่งบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่างรอบอ่าวไทย
               ฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการรวมตัวของผู้คนชาวสยามแล้วสมมุติชื่อดินแดนสยามประเทศติดต่อกับพุกามประเทศ (มอญ), มาลัยประเทศ (มลายู)
               ฟากตะวันออกลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นพวกละโว้หรือมีชื่อที่คนอื่นเรียกอย่างยกย่องว่าขอม สังกัดกัมพูชประเทศ (กัมพูชา)
               ครั้นหลัง พ.ศ. 1600 การค้าสำเภากับจีนหนาแน่นมากขึ้น แต่เส้นทางคมนาคมทางน้ำโดยเฉพาะแม่น้ำลพบุรีคับแคบและอยู่ห่างไกลปากน้ำอ่าวไทยที่โคลนตมถมทับยื่นลงไปมากกว่าแต่ก่อนดินดอนเกิดขึ้นกว้างขวาง รัฐละโว้จึงย้ายศูนญ์กลางมาอยู่ลำน้ำเจ้าพระยาบริเวณที่สบกันของลำน้ำลพบุรี-ป่าสักแล้วสถาปนาเมืองมีนามศักดิ์สิทธิ์ว่าอโยธยาศรีรามเทพนคร ที่ต่อไปข้างหน้าจะเป็นกรุงศรีอยุธยา
            
ภาษาพูดของผู้คนทั้งภาคพื้นแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิกับบริเวณหมู่เกาะเป็นภาษาร่วม แต่แตกต่างเล็กน้อยตามภูมิประเทศ โดยมีภาษากลางใช้สื่อสารทางการค้า 2 เขตใหญ่ ๆ คือ ภาษาตระกูลไทย-ลาวของดินแดนภายใน และภาษาตระกูลชวา-มลายู ของดินแดนภาคพื้นทวีปริมทะเลและหมู่เกาะ
               นับแต่ พ.ศ 1500 เป็นต้นไป อักษรทางศาสนาที่รับจากอินเดียใต้ (ทมิฬ) ตั้งแต่แรก จะคลี่คลายไปในลักษณะเฉพาะของรัฐพื้นเมืองอย่างน้อย 3 แบบ คือ อักษรมอญ ใช้ในรามัญประเทศทางรัฐพุกาม อักษรเขมร ใช้ในกัมพุชประเทศทางรัฐกัมพูชา แต่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีพวกสยาม เรียก อักษรขอม อักษรกวิ ใช้ทางมาลัยประเทศทางใต้ถึงมาเลเซีย

 

 

แผนที่แสดงชุมชนบ้านเมืองและรัฐบางแห่งที่สำคัญ หลัง พ.ศ. 1,500 หรือ ราว 1,000(+) ปีมาแล้ว ใน(สยาม)ประเทศไทย