ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม

   สุจิตต์ วงษ์เทศ

  5,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามบางส่วนเป็นท้องทะเล
  4,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งชุมชนใกล้เคียงพนมสารคาม
  3,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามยังไม่มีชุมชน
  หลัง พ.ศ. 1 พนมสารคามเป็นส่วนหนึ่งของ "สุวรรณภูมิ"
  หลัง พ.ศ. 500 พุทธ-พราหมณ์มาถึงสุวรรณภูมิแต่ยังไม่พบที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีชุมชนบ้านเมืองที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามเกี่ยวข้องกับขอมและการค้าโลก
  หลัง พ.ศ. 1700 พนมสารคามร่วงโรยแล้วรกร้าง
  พ.ศ. 2309 พระเจ้าตาก ผ่่านป่าดงพนมสารคาม
  พ.ศ. 2369 กวาดต้อน "ลาว" มาอยู่พนมสารคาม
  คนจีนในพนมสารคาม
  คนไทยในพนมสารคาม
  อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเรากันเถอะ

 

13.  อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

                         อำเภอพนมสารคามที่อยู่ปัจจุบันเริ่มมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481 แต่ก่อนหน้านี้เคยตั้งอยู่ที่อื่น แล้วโยกย้ายเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้
                         1. สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นชุมชนลาวอยู่บ้านท่าถ่าน ยังไม่เป็นเมืองชื่อพนมสารคาม
                         2. สมัยรัชกาลที่ 4 ยกบ้านท่าถ่านเป็นเมือง ชื่อเมืองพนมสารคาม ได้ชื่อตามเจ้าเมืองว่า พระพนมสารนรินทร์
                         3. สมัยรัชกาลที่ 5 เมืองพนมสารคามน่าจะย้ายจากบ้านท่าถ่าน ไปอยู่บ้านเมืองเก่าริมลำน้ำท่าลาด เพราะการปฏิรูประบบปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล มีมณฑลปราจีนบุรี รวมหัวเมืองตามลำน้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน มีชื่อเมืองปราจีนบุรี, เมืองนครนายก, เมืองพนมสารคาม, และเมืองฉะเชิงเทรา แสดงว่าเมืองพนมสารคามต้องอยู่ริงลำน้ำท่าลาดที่บ้านเมืองเก่า
                         4. สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้เปลี่ยนคำว่า เมืองเป็น จังหวัด และอำเภอ เมื่อ พ.ศ. 2459 เมืองพนมสารคาม เป็นอำเภอพนมสารคาม ขึ้นจังหวัดฉะเชิงเทรา (ตรงนี้ควรตรวจสอบหลักฐานอีก เพราะมีเอกสารบางแห่งว่าเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นอำเภอ เมื่อ พ.ศ 2472)
                         5. พ.ศ. 2481 ย้ายที่ทำการอำเภอพนมสารคามจากบ้านเมืองเก่า ไปตั้งอยู่ฝั่งซ้ายริมลำน้ำท่าลาด ที่บ้านท่าเกวียน มีตลาดและโรงเจอยู่ฝั่งขวา
                         6. พ.ศ. 250-? ไฟไหม้ตลาดบ้านท่าเกวียนครั้งใหญ่ เสียหายมาก เลยต้องย้ายมาสร้างใหม่ตามทางถนนสืบจนทุกวันนี้

                         สงครามเย็น- สงครามเวียดนาม-โลกาภิวัตน์
                         
สงครามเย็นต่อเนื่องถึงสงครามเวียดนาม ระหว่างสงครามเวียดนา มีแคมป์ทหารอเมริกันมาตั้งอยู่บ้านท่าเกวียน และใกล้เคียง เขตอำเภอพนมสารคาม เพื่อสร้างถนนสายสัตหีบ-กบินทร์บุรี-โชคชัย (นครราชสีมา) เพื่อการสงคราม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ท้องถิ่นควรร่วมกันบันทึกไว้อย่างละเอียด

            

                 ความเติบโตของพนมสารคาม หลังสงครามเวียดนามเข้าสู่โลกาภิวัตน์ ที่ชาวพนมสารคามควรร่วมกันจัดแสดงด้วยรูปถ่ายและภาพเขียน รวมถึงสิ่งของบางอย่าง ด้วยสำนึกของเครือญาติพี่น้องพนมสารคามด้วยตนเอง เพื่อเติมเต็มประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพนมสารคาม

อำเภอพนมสารคาม

            เดิมอำเภอพนมสารคาม ตั้งอยู่ที่บ้านโพธิ์ใหญ่ มีอำเภอสนามชัยเขตเป็นสาขา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปตีลาวและเขมร เจ้าพระยาบดินทร์เดชาได้กวาดต้อนชาวลาวและเขมรเข้ามาเป็นจำนวนมาก และกำหนดพื้นที่ให้อยู่เป็นหลักแหล่งพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอพนมสารคามและอำเภอสนามชัยเขต เหตุนี้เองชุมชนดังกล่าวจึงหนาแน่นขึ้นเป็นลำดับ
                ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราโชบายยกหมู่บ้านที่เป็นชุมชนหนาแน่นขึ้นเป็นเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ "ยกบ้านท่าถ่านเป็นเมืองพนมสารคาม" มีศาลากลางเมือง มีเรือนจำ มีเจ้าเมืองปกครอง พระพนมสารนรินทร์ เป็นเจ้าเมืองคนสุดท้ายก่อนที่จะยุบเป็นอำเภอพนมสารคาม บริเวณที่เป็นที่ตั้งเมืองพนมสารคาม ปัจจุบันเรียกว่า ตำบลเมืองเก่า (เพ็ญศรี ดุ๊ก และนารี สาริกะภูติ, 2529 : 16-17)
                เมืองพนมสารคาม ลดฐานะจากเมืองเป็นอำเภอ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พุทธศักราช 2472 ตั้งที่ทำการที่เดิม
                ต่อมา พ.ศ. 2481 สมัยนายชวน สุริยจันทร์ เป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ทำการมาตั้ง ณ บ้านท่าเกวียนหมู่ที่ 1 ฝั่งซ้ายของลำคลองท่าลาด ตำบลพนมสารคาม และ
                พ.ศ. 2509 กระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศตั้งตำบลคู้ยายหมี ตำบลท่ากระดาน และตำบลท่าตะเกียบ แยกออกจากอำเภอพนมสารคาม เป็นกิ่งอำเภอสนามชัยเขต ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศตั้งตำบลดงน้อย ตำบลเมืองใหม่ และตำบลบางคา ออกจากอำเภอพนมสารคามเป็นกิ่งอำเภอราชสาส์น (สุนทร คัยนันท์, 2534 : 139)
                พื้นที่อำเภอพนมสารคาม เคยปกคลุมไปด้วยป่าใหญ่ มีบริษัทได้สัมปทานทำป่าคลองท่าลาด ซึ่งเดิมเรียกแม่น้ำพนมฯ ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมล่องแพซุง ที่ได้จากป่าใหญ่ทั้งของเขตพนมสารคามและสนามชัยเขต ของป่าและไม้มีค่าเป็นสินค้าออกที่สำคัญ น้ำมันยางเป็นสินค้าสำคัญล่าสุด ตามด้วยไม้แดงจีน ไม้หอม และเร่ว (สุนทร คัยนันท์, 2534 : 139)
                หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงประมาณ พ.ศ. 2598 บริเวณนี้ก็ยังเป็นดินแดนที่สร้างความหวาดกลัวเรื่องความไข้และยาเบื่อ เพราะเป็นป่าดงดิบ ปัจจุบันป่าดังกล่าวถูกแผ้วถางไปจนหมดลักษณะดังกล่าว ทุกวันนี้จึงมีสภาพเป็นเพียงที่ราบสูง ประชากรมีอาชีพในการเพาะปลูกพืชไร่ ทำนา และทำสวน
                อำเภอพนมสารคาม มีเขตติดต่อดังนี้
                ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
                ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสนามชัยเขต
                ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
                ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอราชสาส์น
                ปัจจุบันอำเภอพนมสารคาม ประกอบด้วย 8 ตำบล คือ ตำบลพนมสารคาม ท่าถ่าน บ้านซ่อง หนองยาว เมืองเก่า เกาะขนุน หนองแหน และเขาหินซ้อน

                (คัดจากหนังสือ วัฒนธรรม พัมฯาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดฉะเชิงเทราคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมประเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชะพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542)

แผนที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

ฉะเชิงเทรา
                ฉะเชิงเทรา
มาจากภาษาเขมร 2 คำ คือ ฉทึง แปลว่า แม่น้ำ, ลำน้ำ ฯลฯ ออกเสียงเพี้ยนเป็น ฉะเชิง ส่วน เทรา มีผู้อธิบาย แปลว่า ลึก
                เมืองฉะเชิงเทรามีชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าสุดอยู่ในบทพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมืองแผ่น ดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ราว พ.ศ. 2000) ดังนี้

                เมืองวิเสศฤาไชย                              เมืองฉะเชิงเทรา                  ขึ้นประแดงเสนาฎขวา
                ออกพระพิบูรสงคราม                      เมืองนครนายก                   ขึ้นประแดงเสนาฏขวา
                ออกพระอุไทยธานี                           เมืองปราจีนบุรี                    ขึ้นประแดงจุลาเทพซ้าย

พนมสารคาม (หรือ พนมสาลคาม)
            พนมสารคาม
เป็นชื่ออำเภอตั้งอยู่บ้านท่าเกวียน ริมลำน้ำท่าลาด จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จากนามเจ้าเมืองว่า พระพนมสารนรินทร ์ เป็นคำบาลี 3 คำ คือ พนม, สาร, นรินทร์
            ชื่อพนมสารนรินทร์
เป็นคำบาลี 3 คำ คือ พนม , สาร , นรินทร์
            พนม หมายถึง ป่า, ดง, ป่าไม้, ดงไม้ ฯลฯ มีรากคำจากบาลีว่า วน (อ่านว่า วะ-นะ)
            สาร หมายถึง สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง แก่นของไม้, ชั้นในสุด และส่วนแข็งที่สุด
            คาม หมายถึง หมู่บ้าน, ชุมชน
            นรินทร์ หมายถึง คนผู้มีอำนาจ ได้จากคำบาลีว่า นร (อ่านว่า นะ-ระ) กับ อินทร (อ่านว่า อิน-ทะ-ระ)
            มีข้อสังเกตจากชื่อ พนมสารคาม ว่าแต่เดิมน่าจะให้สะกดว่า พนมสารคาม เพราะคำบาลี สาล (อ่านว่า สา-ละ) หมายถึง ต้นรัง หรือต้นยางก็ได้ (แต่นิยมเรียกทับศัพท์ว่าต้นสาละ) สอดคล้องกับภูมิประเทศบริเวณลำน้ำท่าลาดเต็มไปด้วยต้นยาง มีชื่อ เขาดงยาง เป็นพยาน แล้วได้ น้ำมันยาง จากต้นยางเป็นสินค้า ขณะเดียวกันก็เอาต้นยางมาเผาสุมเป็น ถ่าน ได้อีก ตรงตามที่ตั้งเมืองครั้งแรกว่า ท่าถ่าน            

 

ท่าลาด - ท่าเกวียน
            ท่าลาด
เป็นชื่อลำน้ำไหลจากป่าดงทางตะวันออกไปทางตะวันตกลงแม่น้ำบางปะกง ผ่านอำเภอพนมสารคาม
            ชื่อเรียกท่าลาด มี 2 คำ คือ ท่า กับ ลาด
            ท่า
หมายถึงที่สำหรับขึ้น, ลง, จอด, พัก, เช่น ท่าเรือ, ท่ารถ ฯลฯ เมื่อเป็นกิริยาหมายถึง รอ, คอย, เช่น รอท่า, คอยท่า ฯลฯ
            ลาด หมายถึง เท, เอียง, ปูหรือแผ่ให้ยาว มักเรียกบริเวณที่ลาดเอียงมีทางน้ำให้เรือแล่นเข้าออกได้ว่าลาด เช่น ลาดบ้านถ่าน, ลาดต้นโพธิ์, ลาดม่วงขาว, ลาดโคกปีบ ในอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี, ลาดหลุมแก้ว ที่จังหวัดปทุมธานี, ลาดบัวขาว ในกรุงเทพฯ
            ท่าเกวียน เป็นชื่อชุมชนที่ตั้งตัวอำเภอและตลาดพนมสารคาม อยู่ริมลำน้ำท่าลาด เคยเป็นที่ชุมนุมกองเกวียนจากที่ดอนขนสิ่งของมาลงเรือ แล้วแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของจากเรือไปหมู่บ้าน
            ชื่อเรียกท่าเกวียน มี 2 คำ คือ ท่า กับ เกวียน
            เกวียน หมายถึงพาหนะทางบก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มี 2 ล้อ ใช้วัวหรือควายเทียมลกาขนข้าวและสิ่งของอื่น ๆ

อาคารประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม ในบริเวณโรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" สถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคามตามฉบับร่าง

 

 

 

เรียบเรียงจาก
            1. อารยธรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก.
ศรีศักร วัลลิโภดม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.
            2. สยามดึกดำบรรพ์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย. ชาร์ลส์ ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊ค จำกัด. 2542.
            3. คนไทย มาจากไหน?. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ : 2549.
            4. ชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ บรรพชนคนไทยในอุษาคเนย์. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.
            5. ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมสยามประเทศไทย. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ : มติชน. 2547.