ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม

   สุจิตต์ วงษ์เทศ

  5,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามบางส่วนเป็นท้องทะเล
  4,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งชุมชนใกล้เคียงพนมสารคาม
  3,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามยังไม่มีชุมชน
  หลัง พ.ศ. 1 พนมสารคามเป็นส่วนหนึ่งของ "สุวรรณภูมิ"
  หลัง พ.ศ. 500 พุทธ-พราหมณ์มาถึงสุวรรณภูมิแต่ยังไม่พบที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีชุมชนบ้านเมืองที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามเกี่ยวข้องกับขอมและการค้าโลก
  หลัง พ.ศ. 1700 พนมสารคามร่วงโรยแล้วรกร้าง
  พ.ศ. 2309 พระเจ้าตาก ผ่่านป่าดงพนมสารคาม
  พ.ศ. 2369 กวาดต้อน "ลาว" มาอยู่พนมสารคาม
  คนจีนในพนมสารคาม
  คนไทยในพนมสารคาม
  อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเรากันเถอะ

 6. หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีชุมชนบ้านเมืองที่พนมสารคาม

                  หลัง พ.ศ. 1000 บริเวณสองฝั่งลำน้ำท่าลาดหรือคลองท่าลาดที่ไหลผ่านพนมสารคามมีชุมชนบ้านเมืองโบราณหลายแห่ง ตั้งแต่บ้านเกาะขนุนถึงบ้านท่าเกวียน ฯลฯ (ตามรายงานการสำรวจของ รองศาสตราจารย์ศรีศักร์ วัลลิโภดม ในรายงานฉบับสมบูรณ์ การวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง ความเป็นมาของอำเภอสำคัญในประวัติศาสตร์ จัดทำโดยสถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2540)
               หลักฐานนี้แสดงว่าบริเวณพนมสารคามเริ่มมีชุมชนบ้านนามเมืองแล้วตั้งแต่หลัง พ.ศ. 1000 เป็นบ้านเมืองกึ่งกลางระหว่างเมืองศรีมโหสถ (อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี) กับเมืองพระรถ (อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี)

รัฐสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา
               
หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีรัฐขนาดเล็กก่อรูปขึ้นจากการค้าโลกตะวันตก-ตะวันออก แล้วเติบโตเป็นรัฐขนาดใหญ่ มีชื่อในเอกสารจีนว่าหลั่งยะสิว (ลังเกียฉู่) อยู่ทางลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ฟากตะวันตกทะเลโคลนตมอ่าวไทย กับโถโลโปตี (ทวารวดี) อยู่ทางลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก ฟากตะวันออกทะเลโคลนตมอ่าวไทย
                   ต่อมาอีกนานทะเลโคลนตมในอ่าวไทยดึกดำบรรพ์ตื้นเขินเป็นดินดอนอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าเป็นแกนกลาง ทำให้เกิดบ้านเมืองและรัฐเอกราชขึ้นบริเวณที่ราบลุ่มสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา คือ
                   รัฐหลั่งยะสิว อยู่ที่นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเครือข่ายอยู่เมืองคูบัว (จังหวัดราชบุรี) และบริเวณจังหวัดเพชรบุรี
                   รัฐโถโลโปตี อยู่ที่ลพบุรี ฟากตะวันออกลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเครือข่ายอยู่เมืองศรีมโหสถ (จังหวัดปราจีนบุรี) เมืองพระรถ (จังหวัดชลบุรี) และบริเวณจังหวัดจันทบุรี
                    บ้านเมืองและรัฐเหล่านี้ต่างเลือกรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ และตัวอักษรจากอินเดียมาใช้เป็นเครื่องมือทางการปกครองรวบรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ให้อยู่ร่วมในอำนาจเดียวกัน มีคนพวกหนึ่งเรียกสาม คือสยามอยู่ด้วย
                    ส่วนตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางบริเวณแม่น้ำน่าน-ยม อยู่บนเส้นทางคมนาคมระหว่างแม่น้ำโขง-อ่าวเมาะตะมะ-อ่าวไทย ทำให้มีผู้คนเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งชั่วคราว แต่บางพวกตั้งหลักแหล่งถาวรเป็นบ้านเมืองขึ้นต่อไปข้างหน้า

ชุมชนบ้านเมืองแรกสุดของพนมสารคาม
(คัดจากรายงานฉบับสมบูรณ์ การวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่องความเป็นมาของอำเภอสำคัญในประวัติศาสตร์ จัดทำโดย สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2540)

                   จากการสำรวจศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ก็พบว่าตามบริเวณชายขอบที่สูงถึงที่ราบลุ่มเช่นที่อำเภอพนมสารคามนี้

มีบริเวณที่เกิดเป็นบ้านเมืองใหญ่โตขึ้นในสมัยโบราณหลายแห่งคือบริเวณตำบลบ้านเกาะขนุน นั่นก็คือตามริมฝั่งน้ำมีเนินดินที่ถูกน้ำกัดเซาะบ้างหรือไม่ก็ถูกทำลายโดยการบุกเบิกที่ดินเพื่อทำการเพาะปลูกของบ้าน ได้พบพวกโบราณวัตถุ เช่น ขันสำริด ภาชนะดินเผา และเครื่องมือเครื่องไม้ที่มีอายุแต่สมัยอยุธยาลงมา อันแสดงให้เห็นว่าเคยมีผู้ตั้งถิ่นฐานตามริมฝั่งน้ำนี้มากขึ้น
                   แต่ว่าแหล่งที่เป็นชุมชนโบราณนั้น แห่งแรกพบในเขตบ้านคูเมืองที่อยู่ระหว่างบ้านสองพี่น้องและบ้านเกาะม่วง เป็นชุมชนที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็นรูปกลมรีขนาด 600 x 351 เมตร ร่องรอยคูน้ำยังเห็นได้ชัดเจนภายในบริเวณชุมชนเต็มไปด้วยเนินสูงต่ำที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้เล็กใหญ่ เป็นที่ปล่อยทิ้งร้าง ยังไม่มีชาวบ้านเข้าไปทำสวนหรือทำไร่ และโดยเหตุที่ยังไม่มีใครรบกวนทำให้ยังไม่มีผู้พบเห็นโบราณวัตถุ แม้แต่เศษภาชนะดินเผาในบริเวณนี้ ชาวบ้านเรียกชุมชนโบราณแห่งนี้ว่า เมืองคูเมือง
                   เมื่อเดินสำรวจอย่างละเอียดแล้วพบว่าชุมชนแห่งนี้มีร่องรอยคูน้ำและคันดินเก่าทางด้านใต้อีก 2 แห่ง แสดงให้เห็นว่าเคยมีการร่นเขตชุมชน 2 ครั้งด้วยกัน นั่นก็คือผังชุมชนเดิมก่อนการร่นบริเวณ มีลักษณะค่อนข้างไปทางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1,200 x 600 เมตร บริเวณเขตชุมชนทางด้านใต้ซึ่งเป็นบริเวณเก่านั้นได้ถูกชาวบ้านไถปราบพื้นดินเพื่อทำการเพาะปลูกหมดแล้ว ชาวบ้านบอกว่าพบเศษภาชนะและเศษอิฐเหมือนกัน ถ้าหากขุดลึกลงไปจากผิวดินประมาณครึ่งเมตร ชุมชนบ้านคูเมืองนี้อยู่ห่างจากลำน้ำท่าลาดมาทางใต้ประมาณ 500 เมตร หาได้อยู่ติดกับลำน้ำไม่ แต่กลับอยู่ในตำแหน่งบริเวณที่ขนาบไปด้วยลำน้ำสองสาย คือ ลำน้ำท่าลาด ทางเหนือ และลำน้ำเก่าอีกสายหนึ่งคือ คลองบึงกระจับ ทางใต้ ลำน้ำนี้ต้นน้ำมาจากที่สูงทางตะวันออกเฉียงใต้ในเขตอำเภอสนามชัยเขต แล้วผ่านลงสู่ที่ราบลุ่มขนานไปกับลำน้ำท่าลาด จะต่างกันก็ต่อเมื่อปลายของลำน้ำนี้หักวกลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ในขณะที่ลำน้ำท่าลาดวกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ อีกทั้งลำคลองบึงกระจับอยู่ในสภาพที่ตื้นเขินกว่า
                    การที่ชุมชนบ้านคูเมืองตั้งอยู่กลางที่ราบระหว่างลำน้ำทั้งสองนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นชุมชนที่เป็นศูนย์กลางและน่าจะเป็นเมืองในบริเวณนี้ด้วย
                    สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับลำน้ำกระจับในที่นี้ก็คือ มีร่องรอยของการขุดลำน้ำเชื่อมระหว่างลำน้ำบึงกระจับทางใต้กับลำน้ำท่าลาดทางเหนือ ส่วนหัวของคูน้ำอยู่ในเขตวัดบึงกระจับ ขุดไปเชื่อมกับลำน้ำท่าลาดในเขตบ้านกุมแสงเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกว่าดอนพระรถ ตามลำน้ำบึงกระจับนี้แต่โบราณน่าจะมีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ตามริมน้ำ แต่ก็ยังไม่มีการสำรวจค้นคว้ากัน
                    แต่บริเวณตามลำน้ำท่าลาดไปจนถึงบ้านเกาะขนุนนั้นกลับพบร่องรอยชุมชนที่มีคูน้ำล้อมเป็นรูปกลมขนาดเล็กอีก 2 แห่ง
                    แห่งหนึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของชุมชนโบราณที่บ้านึคูเมืองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 400 เมตร ชุมชนนี้ใช้ลำน้ำท่าลาดตอนวกโค้งเป็นคูด้านตะวันออก ส่วนทางด้านตะวันตกเป็นคูที่มนุษย์ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมกับลำน้ำท่าลาด บริเวณภายในชุมชนเป็นพื้นที่ถูกปรับให้เรียบ แต่ไม่พบเศษโบราณวัตถุแต่อย่างใด
                    ส่วนชุมชนอีกแห่งหนึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านคูเมืองอยู่ติดกับลำน้ำท่าลาดเช่นเดียวกันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 300 เมตร คูน้ำที่ล้อมรอบชุมชนแห่งนีมีลักษณะเป็นของมนุษย์ขุดขึ้นแต่ก็ไม่พบเศษชิ้นของสิ่งที่เป็นโบราณวัตถุแต่อย่างใด
                    ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านคูเมือง ข้ามลำน้ำท่าลาดไปประมาณ 30 เมตร มีวัดอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดท้าวอู่ทอง ภายในบริเวณวัดมีร่องรอยพบอิฐเก่ากระจายอยู่ พบชิ้นส่วนของฐานพระพุทธรูปทำด้วยหินสีเขียวลักษณะบัวและลวดลายเป็นแบบทวารวดี ภายในโลสถ์ของวัดท้าวอู่ทองมีพระพุทธรูปหินสีเขียวสมัยทวารวดีตั้งอยู่ 2 องค์ พระเศียรถูกคนร้ายตัดไป ทางวัดจึงได้ปั้นเศียรใหมขึ้นมาแทน
                    พระพุทธรูปและฐานหินนี้เป็นของอยู่กับวัดมาแต่เดิม ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าวัดนี้เป็นวัดคู่กับวัดท้าวอู่ทัย ซึ่งเป็นวัดโบราณอยู่ในเขตอำเภอสนามชัยเขต ใกล้กับวัดนี้มีแนวคันดินและคูน้ำโบราณ เริ่มแต่บริเวณหน้าวัดดอนไก่ ถัดตรงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร หายเข้าไปในเขตบ้านใหม่และบ้านดงตะเคียน
                   ดังนั้นจากการสำรวจและศึกษาแหล่งชุมชนโบราณคลองดอน โบราณสถานวัตถุในบริเวณลำน้ำท่าลาดแล้ว ก็พบสรุปได้ว่าในเขตตำบลบ้านเกาะขนุนที่ตั้งอยู่ริมลำน้ำท่าลาดนี้ เป็นบริเวณเก่าแก่ที่มีบ้านและเมืองมาแล้วแต่สมัยทวารวดีเรื่อยลงมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะบริเวณระหว่างลำน้ำท่าลาดและลำน้ำบึงกระจับนั้นเป็นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ที่สามารถเดินทางตามลำน้ำไปติดต่อกับบ้านเมืองในที่อื่นๆ ได้ ตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยลพบุรี
                   ชุมชนบ้านเมืองในเขตพนมสารคามอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเมืองในลุ่มน้ำบางปะกงอันมีเมืองศรีมโหสถ ที่อำเภอศรีมโหสถเป็นศูนย์กลาง และมีเมืองพระรถที่อำเภอพนัสนิคมจังหวัดชลบุรี เป็นเมืองรองลงมา ผู้คนมีความสัมพันธ์กันกับทางอาณาจักรกัมพูชาไม่ใชน้อย เพราะพบบรรดาศาสนสถานและโบราณวัตถุที่ได้รับอิทธิพลขอมเมืองพระนครมากมาย แต่ทั้งนี้ก็หาได้หมายความว่าเป็นบ้านเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาไม่ หากเป็นกลุ่มก้อนของตนเองที่มีพัฒนาการมาแต่สมัยทวารวดีหรือก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้งนี้เพราะบริเวณป่าดงและเขาที่อยู่ทางด้านตะวันออกนั้นเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะของป่า อันเป็นสินค้าออกไปภายนอกได้อย่างมากมาย ภายหลังสมัยลพบุรีที่ร่วงโรยไปพร้อม ๆ กับการสิ้นสุดของเมืองพระนคร บ้านเมืองในแถบนี้ก็เสื่อมโทรมลงไปด้วยสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเพราะมีศึกสงครามกวาดต้อนผู้คน หรือว่ผู้คนแต่เดิมโยกย้ายถิ่นฐานไปตั้งใหมในที่ลุ่มน้ำที่สะดวกในการคมนาคมและอุดมสมบูรณ์กว่าหรือไม่
                  แต่ทว่าการร่วงโรยไปของบ้านเมืองในที่นี้ก็หาได้หมดสิ้นไปอย่างสิ้นเชิงไม่ ยังมีผู้คนอยู่สืบเนื่องมาในลักษณะที่เป็นชุมชนหมู่บ้าน อาจกล่าวได้ว่าเมืองหายไป แต่บ้านเล็กบ้านน้อยยังดำรงอยู่ ทั้งนี้เพราะพื้นที่และสภาพแวดล้อมยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ และที่สำคัญก็คืออยู่บนเส้นทางคมนาคมที่ติดต่อกันระหว่างบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปยังชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ดังเห็นได้จากเมืองสมเด็จพระเจ้าตากสินครั้งยังเป็นพระยาตากพาไพร่พลหนีจากอยุธยา ผ่านนครนายกมายังปราจีนบุรี ผ่านคงศรีมหาโพธิ์เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองชลบุรีนั้น ได้ผ่านเขตชายดงในเขตอำเภอพนมสารคามตามนี้ลงไป
                  อาจกล่าวได้ว่าแถวชายดงก็คือบริเวณที่เป็นชุมชนบ้านเมืองมาเก่าแก่นั้นเอง แต่ในเขตอำเภอพนมสารคามนั้นส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมลำน้ำท่าลาด ในเขตตำบลเกาะขนุน และลำคลองบึงกระจับเพราะยังปรากฎร่องรอยของวัดเก่าที่มีมาแต่สมัยอยุธยาหลายแห่ง อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสงครามกับพม่าครั้งเสียกรุงก็ดี และต่อมาเมื่อมีการกู้พระนครและสร้างพระนครใหม่ที่เมืองธนบุรีและกรุงเทพฯ ก็ดีมีผลทำให้คนถูกกวาดต้อนและหนีภัยกันในบริเวณนี้ด้วย ทำให้ชุมชนหายไปก็มาก ส่วนที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่นั้นมักเป็นชุมชนที่เกิดจากพวกนอกกฎหมาย เป็นพวกโจรพวกหนีอาญาแผ่นดิน ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งที่เรียกว่าซ่องมากมาย

แผนที่แสดงชุมชนบ้านเมืองและรัฐบางแห่งที่สำคัญ หลัง พ.ศ. 1,000 หรือ ราว 1,500(+) ปีมาแล้ว ใน(สยาม)ประเทศไทย