ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม

   สุจิตต์ วงษ์เทศ

  5,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามบางส่วนเป็นท้องทะเล
  4,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งชุมชนใกล้เคียงพนมสารคาม
  3,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามยังไม่มีชุมชน
  หลัง พ.ศ. 1 พนมสารคามเป็นส่วนหนึ่งของ "สุวรรณภูมิ"
  หลัง พ.ศ. 500 พุทธ-พราหมณ์มาถึงสุวรรณภูมิแต่ยังไม่พบที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีชุมชนบ้านเมืองที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามเกี่ยวข้องกับขอมและการค้าโลก
  หลัง พ.ศ. 1700 พนมสารคามร่วงโรยแล้วรกร้าง
  พ.ศ. 2309 พระเจ้าตาก ผ่่านป่าดงพนมสารคาม
  พ.ศ. 2369 กวาดต้อน "ลาว" มาอยู่พนมสารคาม
  คนจีนในพนมสารคาม
  คนไทยในพนมสารคาม
  อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเรากันเถอะ

5. หลัง พ.ศ.500 พุทธ-พราหมณ์มาถึงสุวรรณภูมิแต่ยังไม่พบที่พนมสารคาม

                    หลัง พ.ศ. 500 หรือราว 2,000 ปีมาแล้ว บริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง - ท่าจีนกับลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำบางปะกง เป็นบ้านเมืองศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระหว่างตะวันตก คือ อินเดีย, ลังกา, เปอร์เซีย, อาหรับ ฯลฯ กับตะวันออก จีน (ฮั่น) ฯลฯ แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าพนมสารคามมีชุมชนบ้านเมืองหรือยัง?
                    บริเวณลำน้ำท่าจีน-แม่กลอง มีชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมืองตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณดอนตาเพชร (อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี) และ อู่ทอง (อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี) ที่ดอนตาเพชร-อู่ทองนี่เอง ศาสนาพุทธจะแพร่หลายออกไปถึงที่อื่น ๆ เช่น บริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก, ลุ่มน้ำบางปะกง-พานทอง, ลุ่มน้ำชี-มูล, ลุ่มน้ำโขง ฯลฯ
                    คนพื้นเมืองดั้งเดิมนับถือ "ศาสนาผี" มาก่อนนานแล้ว มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าทำพิธีกรรม เท่ากับผู้หญิงเป็นผู้สืบทอดพิธีกรรมในศาสนาผี เมื่อศาสนาพุทธ-พราหมณ์ที่มีผู้ชายสืบทอดพิธีกรรมแผ่มาถึงสุวรรณภูมิก็เกิดปะทะขัดแย้งก่อน แล้วประณีประนอมประสมประสานเข้าด้วยกันในภายหลัง โดยมีศาสนาพุทธ-พราหมณ์เป็นแกนนำหลัก และเป็นเครื่องมือทันสมัยในการปกครองรวบรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ให้มีศูนย์รวมร่วมกันอยู่ที่พุทธ-พราหมณ์
                    นับแต่นี้ไป คือราวหลัง พ.ศ.500 ชุมชนบ้านเมืองในศาสนาผีที่รับพุทธ-พราหมณ์ จะเติบโตขึ้นเป็นบ้านเมือง แล้วมีพัฒนาการขึ้นเป็นรัฐขนาดเล็กบริเวณทะเลโคลนตมอย่างน้อย 2 แห่ง คือ บริเวณอู่ทองกับลพบุรี ปากน้ำเจ้าพระยาในประเทศไทย
                    ผู้คนพลเมืองของ 2 บริเวณนี้ มีหลายเผ่าพันธุ์ผสมผสานอยู่ด้วยกันมาก่อนและจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีภาษาพูดคล้ายคลึงกัน ถือเป็นภาษาร่วมสุวรรณภูมิ ใช้สื่อสารกันได้ทั่วไป แต่จะเริ่มรับภาษาอื่นเข้ามาใช้งาน เช่น ภาษาจากอินเดีย ภาษาจีน ฯลฯ จากนั้นก็รับตัวอักษรที่มากับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ยกย่องเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม ใช้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ
                    ทางตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่างเปล่า จะมีเพียงชุมชนขนาดเล็กถลุงเหล็กอยู่ทางลุ่มน้ำยมีที่สุโขทัย กับมีผู้คนเคลื่อยย้ายจากบริเวณสองฝั่งโขง ผ่านลงมาทางลุ่มน้ำน่านที่อุตรดิตถ์-พิษณุโลก นานเข้าก็เริ่มเป็นชุมชนสถานีการค้าบนเส้นทางคมนาคม

เรือทะเลสมุทรจากชมพูทวีปและที่อื่น ๆ ทางทิศตะวันตกมีรูปแบบเป็นตัวอย่างในตราดินเผา พบที่เมืองนครชัยศรี (หรือเมืองนครปฐมโบราณ) แสดงว่าบ้านเมืองในสุวรรณภูมิมีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศทางทะเลอย่างกว้างขวางโดยผ่านทะเลอันดามัน กับอ่าวไทยโบราณและทะเลโคลน


แผนที่แสดงชุมชนบ้านเมือง บางแห่งที่สำคัญ หลัง พ.ศ. 500 หรือ ราว 2,000(+) ปีมาแล้ว ใน(สยาม)ประเทศไทย