ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม

   สุจิตต์ วงษ์เทศ

  5,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามบางส่วนเป็นท้องทะเล
  4,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งชุมชนใกล้เคียงพนมสารคาม
  3,000 ปีมาแล้ว พนมสารคามยังไม่มีชุมชน
  หลัง พ.ศ. 1 พนมสารคามเป็นส่วนหนึ่งของ "สุวรรณภูมิ"
  หลัง พ.ศ. 500 พุทธ-พราหมณ์มาถึงสุวรรณภูมิแต่ยังไม่พบที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1000 แรกมีชุมชนบ้านเมืองที่พนมสารคาม
  หลัง พ.ศ. 1500 พนมสารคามเกี่ยวข้องกับขอมและการค้าโลก
  หลัง พ.ศ. 1700 พนมสารคามร่วงโรยแล้วรกร้าง
  พ.ศ. 2309 พระเจ้าตาก ผ่่านป่าดงพนมสารคาม
  พ.ศ. 2369 กวาดต้อน "ลาว" มาอยู่พนมสารคาม
  คนจีนในพนมสารคาม
  คนไทยในพนมสารคาม
  อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเรากันเถอะ

  11.  คนจีนในพนมสารคาม

                         คนจีนเริ่มเข้ามาตั้งหลักแหล่งในพนมสารคามหลังจากกลุ่มลาวมีชุมชนบ้านเรือนเป็นหลักฐานแล้ว คนจีนเหล่านี้ขยายขึ้นมาจากเมืองฉะเชิงเทรา ตามลำน้ำบางปะกงและท่าลาด

ชุมชน "คนจีน" ชายฝั่งทะเลตะวันออก
                         
ครั้งรัชกาลที่ 3 คนจีนอพยพเข้ามารับจ้างเป็นแรงงาน และมีอาชีพเป็นพ่อค้า ตลอดจนทำสวนทำไร่กันมากตามเขตชายทะเลทั้งทางตะวันออกและตะวันตก ที่มีมากคือทางตะวันออก คือในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ทำให้เกิดชุมชนที่เป็นตลาด ย่านค้าขายสิ่งของถาวรซึ่งเป็นพื้นฐานของเมืองในปัจจุบัน นอกจากย่านตลาดแล้วก็เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชไร่และผลไม้ เช่น อ้อย สับปะรด และผัก

                         การเข้ามาตั้งหลักแหล่งของคนจีน ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างเมืองและหมู่บ้านในชนบทอย่างแพร่หลาย เพราะคนจีนที่เป็นพวกพ่อค้า คือผู้ที่นำสินค้าจากเมืองไปแลกเปลี่ยนสินค้าทางเกษตรกับสินค้าป่าจากชาวบ้านในถิ่นต่าง ๆ เกิดมีเส้นทางคมนาคมทั้งทางน้ำทางบก รวมทั้งตลาด และแหล่งซื้อขายสินค้า ตามชุมชนของชนบทเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันคนจีนเหล่านั้นบางพวกก็เข้าไปตั้งหลักแหล่งแต่งงานปะปนกับชาวบ้าน

                         ผลที่ตามมาก็คือ ตามเมืองและหมู่บ้านในเขตตะวันออกนั้น เกิดผู้คนมี่ผสมผสานกันในทางชาติพันธุ์ หลายเผ่า หลายสกุล มีทั้งไทย จีน ลาว เขมร ญวน และอื่น ๆ แต่ทว่ายังไม่มีการสร้างอะไรที่เป็นขนบประเพณีที่เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมกันขึ้น เป็นแค่เพียงการผสมผสานที่ยังไม่มีความกลมกลืนในทางวัฒนะรรม ยิ่งกว่านั้น บรรดาประเพณีหลวงจากพระนคร ที่เคยแพร่หลายไปครอบงำสังคมชนบทในท้องถิ่นต่าง ๆ ตามภูมิภาคอื่น ๆ ก็หาได้มีบทบาทเข้ามาไม่ จึงทำให้สภาพสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคนี้ มีลักษณะเป็น ชายขอบ อย่างแท้จริง

อั้งยี่-นักเลงโต-เจ้าพ่อ-ก็คือ "เจ้าเมือง"

                         การที่ทางรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร ทั้งในด้านการปกครอง การบริหาร และการสร้างบูรณาการทางวัฒนธรรม มีผลให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงของพวกอั้งยี่ที่เมืองฉะเชิงเทราขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ราว พ.ศ. 2391 ฆ่าเจ้าเมืองตาย แล้วยึดเมืองฉะเชิงเทราไว้ ทำให้ต้องใช้กำลังปราบปราม

ชาวจีนลากรถในพระนครประมาณ 6,000 คน ได้สไตร๊ค์หยุดลากรถเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2547 โดยนำรถลากไปจอดเป็นแถวตั้งแต่หน้าวังจันทรเกษมมาจนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ และเลี้ยวไปตามถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม สาเหตุจากการไม่พอใจเจ้าของโรงลากรถที่หากำไรจากรถลากมากเกินไป

                         พวกจีนทั้งที่เป็นอั้งยี่และไม่ใช่อั้งยี่ ถูกกองทหารจากกรุงเทพฯ ที่เป็นคนไทยและคนลาวร่วมกันฆ่าตายเป็นจำนวนมาก ทั้งในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี

                         กบฎอั้งยี่ แตกต่างไปจากการกบฎทั้งหลายที่เคยมีมาก่อนในอดีต ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในยุคต่อไป

                         การกบฎในอดีต เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างคนในเขตการปกครองด้วยกันเองกับการแสดงอำนาจของคน ที่ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ ที่เรียกว่า ผีบุญ ทั้งสองอย่างนี้ไม่มีลักษณะที่เป็นองค์กรและกระบวนการแน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับบุคคลที่เป็นผู้นำ เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว หรือถูกปราบปรามแล้วก็หมดสิ้นไป

                         แต่กบฎอั้งยี่ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากกระบวนการและองค์กรที่แน่นอน แม้ว่าจะถูกปราบปรามไปแล้วก็ตาม รูปแบบ วิธีการ และกระบวนการยังคงอยู เพียงแต่ยังไม่มีจังหวะและโอกาสที่จะแสดงขึ้นมาเท่านั้น

                         กระบวนการอั้งยี่ นับได้ว่าเป็นประเพณีหรือวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และเจริญเติบโตสืบเนื่องอยู่ในสังคมชายฝั่งทะเลตะวันออก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะของภูมิภาคแล้วสืบเนื่องเป็นนักเลงโต เจ้าพ่อ จนถึงผู้มีอิทธิพล และมาเฟีย กันต่อ ๆ มาจนปัจจุบัน สมดังที่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สรุปกว้าง ๆ ดังนี้

                         การให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่คนทั่วไปในรัชกาลที่ 5 นี้ ถือได้ว่าเป็นมูลฐานสำคัญที่ทำให้เกิดพวกนายทุนและพ่อค้าซึ่งเป็นชนชั้นกลางขึ้น คนเหล่านี้เป็นจำนวนมากที่เป็นชาวจีน และมีลูกหลานดำเนินกิจกรรมสืบต่อมา เกิดเป็นหลายก๊กหลายเหล่าที่บางทีมีผลประโยชน์ขัดกันเอง ทำให้เกิดการแข่งขันและทำลายซึ่งกันและกัน แต่ละพวกจึงต้องหาผู้คุ้มกัน ซึ่งในการนี้พวกอั้งยี่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นคนจีนด้วยกัน ในขณะที่การขอความคุ้มครองจากบ้านเมืองเป็นเรื่องไม่สะดวก อันเนื่องมาจากอาชีพและการงานของพวกนายทุนพ่อค้าเหล่านี้บางอย่างก็ไม่สุจริตนัก แต่ถึงแม้ว่าจะมีอาชีพที่สุจริต แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าทางราชการบ้านเมืองจะให้ความคุ้มครองได้เพียงพอ ยิ่งกว่านั้นบุคคลที่เป็นพ่อค้าเหล่านี้ก็อาจจะถูกพวกอั้งยี่คุกคามรีดไถเงินทอง โดยการตอบสนองให้ความคุ้มครองก็มี

                         เพราะฉะนั้นการที่ยังมีขบวนการอั้งยี่อยู่ดังกล่าวนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีอะไรหลายอย่างที่ไม่สมดุลเกิดขึ้นในสังคมของพวกที่อยู่ทางภูมิภาคตะวันออก ที่มีลักษณะเป็นบริเวณชายขอบทางการปกครองในขณะนั้น

                         อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา บรรดาเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันออกมพัฒนาการกว่าสมัยใด ๆ ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าแต่ก่อนเคยมีผู้คนอยู่น้อยกระจายกันอยู่ในถิ่นต่างๆ แต่ในช่วงเวลานี้ลงมามีคนเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ มีทั้งผู้ประกอบอาชีพเป็นชาวนาปลูกข้าวกันแบบภูมิภาคอื่น ๆ ผู้ประกอบอาชีพในการทำไร่ เช่น ทำไร่อ้อย เป็นตัวอย่าง ผู้ที่ทำสวนผลไม้และปลูกยางพาราก็นับได้ว่าเป็นกลุ่มที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง พวกที่เคลื่อนย้ายมาขุดแร่ขุดพลอยขายก็เป็นอีกกลุ่ม ในขณะที่ชาวพื้นเมืองที่อยู่มาแต่เดิมตามชายฝั่งทะเลมีอาชีพทำการประมง

                         นอกจากกลุ่มอาชีพเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีพวกพ่อค้าที่เป็นคนหลายชาติหลายภาษาเข้ามาประกอบกิจการตามย่านที่เป็นเมืองและตลาด ทำให้บ้านเมืองในภูมิภาคนี้มีความหลากหลาย และซับซ้อนในทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นกว่าแต่เดิม

                         สภาพและลักษณะทางสังคมก็ยังเป็นแบบชายขอบ ที่ยังไม่มีความเป็นปึกแผ่นในด้านบูรณาการทั้งทางวัฒนธรรมและการเมืองเช่นเดิม ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ดูเหมือนว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองและชี้แนะของทั้งองค์กรของทางรัฐที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงกับกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจ  และเป็นผู้กว้างขวาง และมีอิทธิพลในท้องถิ่นซึ่งดูเหมือนว่าจะมีพลังกว่าทางราชการ และในบางครั้งก็แสดงการขัดขืนและท้าทายอำนาจรัฐ ถ้าหากมีการขัดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น

                         กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นเหล่านี้คือผลพวงของความเป็นมาแต่อดีต ที่เคยมีพวกนักเลงโตและอั้งยี่มาก่อน มีลักษณะเป็นการผสมผสานของทั้งการเป็นนักเลงโตและอั้งยี่ในเวลาเดียวกัน นั่นก็คือ บุคคลที่เป็นใหญ่หรือหัวหน้าของกลุ่มนั้น มักเป็นผู้มีนิสัยใจคอกว้างขวาง กล้าได้กล้าเสียแบบนักเลงโต ช่วยเหลือและอุปถัมภ์ผู้ที่มาขอพึ่งพา และบรรดาพรรคพวกในท้องถิ่นของตน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้แสวงหาผลผระโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสถาปนาความมั่งคั่งแก่ตนเอง มีสมัครพรรคพวกที่เป็นบริวารทำหน้าที่คุ้มครองรักษาผลประโยชน์ให้แก่ตน พร้อม ๆ กับการที่จะทำร้ายและทำลายบุคคลอื่น ๆ ที่ขัดผลประโยชน์ของตน

                         บุคคลที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำเหล่านี้ แม้ว่าจะล้มหายตายจากไปเช่นเดียวกับพวกนักเลงโตในอดีตแต่ขบวนการของการมีอิทธิพลแบบอั้งยี่ก็ยังคงดำรงอยู่ เกิดตัวตายตัวแทนสืบเนื่องเรื่อยมา

                         การมีกลุ่มอิทธิพลประจำท้องถิ่นดังกล่าวนี้ มักก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน ระหว่างกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นเดียวกันหรือกับต่างถิ่นอยู่เนือง ๆ โดยที่ทางกฎหมายบ้านเมืองไม่อาจเข้าไปควบคุมได้สะดวกชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วไปในแต่ละท้องถิ่น จึงมักขึ้นอยู่กับระบบอุปถัมภ์ของผู้มีอิทธิพลกับผู้ที่เป็นชาวบ้านผู้ที่ต้องพึ่งพาอยู่เสมอ

                         ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หรือกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นตามที่กล่าวมานี้ ไม่ได้มีลักษณะหยุดนิ่ง หากมีการขยายตัวเติบโตจากระดับท้องถิ่นและจังหวัดอยู่เนือง ๆ ในบางครั้งก็มีการกระทำที่ท้าทายต่อกฎหมายบ้านเมืองขึ้น เช่น การกระทำของพวกหลงจู๊ในเขตจังหวัดชลบุรี ที่กักขังและทำทารุณกรรมต่อคนงานที่มาจากภาคอีสานและภูมิภาคอื่น จนเป็นเหตุให้มีการปราบปรามและจับกุมกันขึ้น เป็นต้น

                         ปัจจุบันการสืบเนื่องและการเติมโตของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ก็ได้พัฒนามาเป็นกระบวนการเจ้าพ่อหรือมาเฟีย จนมีขอบเขตอำนาจและอิทธิพลครอบงำไปทั่วทั้งจังหวัด และภูมิภาค มีการขัดแย้ง การทำลายล้างกัน และควบคู่ไปกับการกระทำหลาย ๆอย่างที่ผิดกฎหมาย

                         ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเจ้าพ่อหรือมาเฟียในระดับจังหวัดหรือภูมิภาค หรือผู้มีอำนาจในระดับท้องถิ่นอะไรต่าง ๆ ของเขา เนื้อแท้ของสิ่งเหล่านี้ก็คือความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์ที่มีอิทธิพลกับผู้ถูกอุปถัมภ์ที่เป็นชาวบ้านชาวเมือง นับเป็นวิถีชีวิตหรือรูปแบบทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมในภูมิภาคนี้